ดีเดย์! ทหารกว่า ๑๐,๐๐๐ นาย เตรียมพร้อม ยกพลขึ้นบกจันทร์นี้ ฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๔ ด้านกองทัพไทย พร้อมส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ และศิลปะวัฒนธรรมไทย ชี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยววันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๗ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์นี้ จะมีการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๔ ครั้งที่ ๔๓ ซึ่งปีนี้กองทัพของไทย ได้ขานรับนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาล โดยนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายให้นำวัฒนธรรมประเพณีของไทย เช่น การต่อสู้มวยไทย ฯลฯ เข้าไปร่วมในการฝึกครั้งนี้ เพราะนอกจากการฝึกทางทหารแล้ว ประเทศไทยต้องได้การส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ การท่องเที่ยว เช่น พัทยา จอมเทียน บางเสร่ และพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในภาคตะวันออก และในพื้นจังหวัดชลบุรี ระยอง ลพบุรี และจังหวัดที่กองทัพกำหนด ซึ่งทหารกว่าหมื่นนาย จาก ๓๐ ประเทศ จะได้นำกลับไปประชาสัมพันธ์ ไทยแลนด์ ได้อีกด้วย โดยการฝึกครั้งนี้มีระยะเวลา กว่า ๑๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ไปจนถึง วันที่ ๘ มีนาคม และการฝึกในปีนี้จะกลับมาเต็มรูปแบบหลังจากลดขนาดการฝึกในช่วงโควิดไป กว่า ๓ ปีนายจิรายุ กล่าวอีกว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๔ เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารขนาดใหญ่และมีประวัติยาวนานที่สุดการฝึกหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยมีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลัก จำนวน ๗ ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชนอีก ๒ ประเทศ ได้แก่ จีน และ อินเดีย และประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในการฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา คือ ออสเตรเลีย สำหรับกลุ่มประเทศที่หมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation ) จำนวน ๑๐ ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ สหราชอาณาจักร และบรูไน และประเทศที่เข้าร่วมในโครงการสังเกตการณ์ฝึก (Combined Observer Liaison Team : COLT) จำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว บราซิล ปากีสถาน เวียดนาม เยอรมนี สวีเดน สาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) คูเวต และศรีลังกา รวม ๓๐ ประเทศ มีผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน ๙,๕๙๐ นาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดี ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วมและผสม โดยการประยุกต์ ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ อีกทั้งเพื่อฝึกการใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ โดยการฝึกครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๑. การฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา สำหรับปีนี้เป็นวงรอบการฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) ซึ่งเป็นการฝึกอำนวยการยุทธ์ของกำลังรบขนาดใหญ่ เพื่อรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ในทุกมิติ (All Domain Operations) ได้แก่ ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางด้านไซเบอร์ และทางอวกาศ สำหรับการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ ปี ๒๐๒๔ เป็นการฝึกบนพื้นฐานของแผนยุทธการ (OPORD) และแนวความคิดในการปฏิบัติ (CONOP) โดยพัฒนาตามหนทางปฏิบัติที่ ผบ.กกล.ร่วม/ผสม นานาชาติ ตกลงใจเลือก ตามกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางทหารแบบนานาชาติ (MDMP-M) ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของการฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAFFEX) ในวงรอบการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ ๒๓ ที่ผ่านมา๒. โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์สำหรับโรงเรียนในพื้นที่การฝึก จำนวน ๕ พื้นที่ การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ (HADR-TTX) ในหัวข้อบทบาททางทหาร ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภายใต้กลไกลการตอบสนองในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมการฝึกสาธิตฯ (HADR-Demo) ซึ่งเป็นการฝึกสาธิตแนวทางในการปฏิบัติรั้งนี้เป็นสถานี ได้แก่ การค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแพทย์ฉุกเฉิน การส่งกลับสายแพทย์ สารเคมีรั่วไหล และการดับเพลิง ของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการฝึกฯ๓. การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ประกอบด้วย การฝึกแลกเปลี่ยน CTX และการฝึกภาคสนามของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ การฝึกอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ขัดแย้ง และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๔ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกในส่วนของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ความชำนาญ และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ ในการปฏิบัติการร่วมและผสมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการงานด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารไทย และทหารมิตรประเทศ กับประชาชนในพื้นที่การฝึกฯ และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตามิตรประเทศและประชาคมโลกต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้จ่ายให้กับพื้นที่ ชุมชน ที่มีกองทัพมิตรประเทศเข้าร่วมการฝึก ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกด้วย นายจิรายุ กล่าว