วันพุธ, 6 พฤศจิกายน 2567

สร้างแผนที่ท้องฟ้าเพื่อศึกษาจักรวาลในอนาคต

การไขปริศนาจักรวาลด้วยการจับภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราและที่อื่นๆให้ได้ชัดเจน จะปูทางไปสู่การค้นพบใหม่ๆ เช่น การพบการกระจายตัวของสสารมืดและพลังงานมืดในจักรวาล จะทำให้กระจ่างเกี่ยวกับองค์ประกอบลึกลับที่ประกอบเป็นมวลและพลังงานส่วนใหญ่ของจักรวาล ข้อมูลใหม่นี้มีศักยภาพที่จะปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับพลังพื้นฐานที่ควบคุมจักรวาล และจะช่วยกำหนดรูปแบบความเข้าใจของนักดาราศาสตร์เกี่ยวกับจักรวาลในอีกหลายปีข้างหน้าตอนนี้มีความก้าวหน้า ล่าสุดในเทคนิคการวัดทางดาราศาสตร์ เผยให้เห็นภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกและจักรวาลอันกว้างใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากการรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์หลายตัวและเทคโนโลยีการถ่ายภาพขั้นสูง นักดาราศาสตร์จึงสามารถสร้างแผนที่โดยละเอียดของกาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีอื่นๆได้อย่างคมชัดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น หอดูดาวขนาดเล็กในเทือกเขาแอนดีสทางตอนเหนือของชิลีจัดทำแผนที่ ๗๕% ของท้องฟ้า นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการวัดต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาลได้แม่นยำมากกว่าที่ผ่านๆมา นักวิทยาศาสตร์จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความร่วมมือที่นำโดยนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐฯ ได้สร้างแผนที่ดังกล่าว ด้วยการวัดโพลาไรเซชันของไมโครเวฟ หรือการที่คลื่นพลังงานแกว่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งนักดาราศาสตร์ระบุว่า ด้วยวิธีการนี้ทำให้คาดคะเนได้ว่าจักรวาลมีลักษณะอย่างไรในยุคแรกๆ เช่น สภาวะเริ่มแรก ช่วงเวลาแรกที่สสารในจักรวาลและการกระจายพลังงานเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นกับสิ่งที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันได้.Credit : Johns Hopkins Universityอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่