ฝรั่งเศสสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวของโลกที่บัญญัติสิทธิในการทำแท้งลงในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สิทธิในการตัดสินใจเป็นของผู้หญิงทุกคน แม้จะต้องเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่อต้านการทำแท้งก็ตามสภานิติบัญญัติของฝรั่งเศสลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ๗๘๐ ต่อ ๗๒ เสียง เมื่อวันจันทร์ (๔ ม.ค.) ตามเวลาในท้องถิ่น เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๑ เพื่อรับรองเสรีภาพ ของผู้หญิงในการทำแท้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ ๒๕ นับตั้งแต่การก่อตั้งฝรั่งเศสยุคใหม่ และเป็นการแก้ไขครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ฝรั่งเศสสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นชาติแรกและชาติเดียวของโลกที่บัญญัติสิทธิในการทำแท้งลงในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สิทธิอันชอบธรรมในการตัดสินใจทำแท้งแก่ผู้หญิงชาวฝรั่งเศสทุกคน โดยสภานิติบัญญัติของฝรั่งเศสลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ๗๘๐ ต่อ ๗๒ เสียง เมื่อวันจันทร์ (๔ ม.ค.) ตามเวลาในท้องถิ่น เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. ๒๕๐๑ เพื่อรับรองเสรีภาพ ของผู้หญิงในการทำแท้งโดยหลังสิ้นสุดการลงคะแนนเห็นชอบ รัฐสภาฝรั่งเศสก็กึกก้องไปด้วยเสียงปรบมือ ขณะที่ หอไอเฟลได้เปิดไฟข้อความว่า “My Body My Choice” ซึ่งแปลว่า “ร่างกายของฉัน ฉันเลือกเอง” ซึ่งเป็นสโลแกนที่ใช้อย่างแพร่หลายในการรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีในการทำแท้ง ที่มาที่ไปของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้การทำแท้งเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ แล้ว แต่ผลสำรวจยังพบว่าประชาชนราว ๘๕% สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างคงที่เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน และแม้ประเทศอื่นๆ จะบรรจุเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่บัญญัติสิทธิในการทำแท้งเอาไว้ด้วย ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นจากการผลักดันของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ต้องการจะป้องกันการพลิกผันของเสรีภาพในการทำแท้ง หลังเห็นจากกรณีคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาหลังจากคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕๖๕ ของศาลสูงสหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง และส่งผลให้ผู้หญิงหลายล้านคนในสหรัฐฯ ต้องสูญเสียสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ ขณะที่แต่ละรัฐของสหรัฐฯ สามารถออกกฎหมายห้ามการทำแท้งได้อีกครั้ง นายมาครงจึงเกรงว่าแค่รัฐบัญญัติให้การทำแท้งเสรีถูกกฎหมาย อาจจะยังไม่เพียงพอ และควรมีการรับรองสิทธิการทำแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยภายหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ผ่านความเห็นชอบ นายมาครงก็ระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวคือความภาคภูมิใจของฝรั่งเศส และเป็นการส่งสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับสากล กฎหมายทำแท้งเสรีของฝรั่งเศสฝรั่งเศสออกรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างถูกต้องมาตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๑๘ แตกต่างจากการอนุญาตทำแท้งของสหรัฐฯ ที่การรับรองสิทธิเป็นผลจากคำพิพากษาของศาลสูงนับตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ เป็นต้นมา กฎหมายทำแท้งของฝรั่งเศสได้รับการปรับปรุงแก้ไขมาแล้ว ๙ ครั้ง และแต่ละครั้งเป็นการแก้ไขเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการทำแท้งของผู้หญิงการออกรัฐบัญญัติทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส เป็นผลจากการเคลื่อนไหวในปี ๒๕๑๔ ที่ตัวแทนผู้หญิงทั่วทั้งฝรั่งเศส ๓๔๓ คน ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการทำแท้งเสรีจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “คำประกาศ ๓๔๓” โดยหญิงที่ร่วมลงรายชื่อทั้งหมด ยอมรับว่าพวกเธอได้ทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การเดินหน้าเพื่อออกรัฐบัญญัติส่วนการแก้รัฐธรรมนูญครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ของฝรั่งเศสถูกมองว่าก้าวล้ำไปไกลกว่า อดีตยูโกสลาเวีย ซึ่งรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ กล่าวว่า บุคคลมีอิสระที่จะตัดสินใจมีลูก โดยภายหลังจากที่ยูโกสลาเวียล่มสลายในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๓๓ รัฐผู้สืบทอดก็มีการใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกันในรัฐธรรมนูญของพวกเขา ที่อนุญาตให้ผู้หญิงทําแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย แม้ว่าจะไม่มีการรับรองอย่างชัดเจนก็ตาม ทำความรู้จักคดี Roe v Wade ในสหรัฐฯเมื่อเดือน มิ.ย. ปี ๒๕๖๕ ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษาซึ่งถือเป็นการล้มล้างคำพิพากษาคดีในอดีตซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Roe v Wade ซึ่งในครั้งนั้นศาลสูงตัดสินว่าการทำแท้งไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายเมื่อปี ๒๕๑๖คดี Roe v Wade เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก เมื่อปี ๒๕๑๒ นางสาวนอร์มา แม็กคอร์วี หญิงโสดที่อ้างว่าถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ลูกคนที่สาม ร้องต่อศาลรัฐเท็กซัสให้แก้ไขกฎหมายซึ่งกำหนดให้การทำแท้งทุกกรณีเป็นอาชญากรรม โดยกฎหมายดังกล่าวยกเว้นให้เฉพาะหญิงที่เสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการตั้งครรภ์เท่านั้นนางสาวแม็กคอร์วีใช้นามแฝงในการฟ้องคดีว่า เจน โร (Jane Roe) และต้องต่อสู้คดีกับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นอัยการของเขตดัลลัส ชื่อว่าเฮนรี เวด (Henry Wade) จึงเป็นที่มาของชื่อคดีประวัติศาสตร์ Roe v Wadeหลังจากศาลของรัฐเท็กซัสได้ยกคำร้องดังกล่าว คดีนี้ได้ไปถึงศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๑๖ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาร่วมกับคดีที่คล้ายกันของหญิงสาวอีกคนหนึ่งจากรัฐจอร์เจียว่า กฎหมายห้ามการทำแท้งของรัฐเท็กซัสและรัฐจอร์เจียขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ เพราะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของสตรี และยังตัดสินว่าสิทธิยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิง ได้รับการคุ้มครองโดยชอบจากกฎหมายในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯอย่างไรก็ตาม ผ่านมาเกือบ ๕๐ ปี ศาลสูงสหรัฐฯ กลับมีคำพิพากษาที่เท่ากับเป็นการล้มล้างคำพิพากษาเดิม จนทำให้สิทธิในการทำแท้งในสหรัฐอเมริกาอาจจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายอีกครั้ง โดยจะทำให้แต่ละรัฐสามารถสั่งห้ามการทำแท้งได้ และคาดว่ารัฐต่างๆ ราวครึ่งหนึ่งจะออกกฎหมายใหม่ หรือสั่งห้ามการทำแท้งโดยเด็ดขาด ชัยชนะของสิทธิสตรีในฝรั่งเศสฝ่ายนิติบัญญัติในสภาต่างยิ้มกว้างด้วยความยินดี หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบยกย่องความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นหนทางสร้างประวัติศาสตร์ให้กับฝรั่งเศสในการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของการสนับสนุนสิทธิการเจริญพันธุ์ โดยรัฐบาลจะจัดพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ ๘ มี.ค. ซึ่งเป็นวันสิทธิสตรีสากลโดยก่อนการลงมติของรัฐสภา นายแกเบรียล อัลทาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า สิทธิในการทำแท้งยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง และอำนาจในการตัดสินใจทำแท้งยังเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้ตัดสินใจ และนี่คือโอกาสให้เราได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการส่งเสียงไปยังผู้หญิงทุกคนว่า “ร่างกายเป็นของคุณและไม่มีใครมาตัดสินใจแทนคุณได้”อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภายในสภากำลังผ่านการรับรองสิทธิในการทำแท้ง ท่ามกลางกลุ่มสิทธิสตรีที่สนับสนุนสิทธิในการทำแท้งมารอฟังผลอย่างใจจดใจจ่อ แต่ก็มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยที่ต่อต้านการทำแท้งราว ๒๐๐ คน ที่มารวมตัวกันด้านนอก พร้อมถือป้ายข้อความ ฉันก็เคยเป็นตัวอ่อนมาก่อน โดยแสดงจุดยืนว่าไม่มีใครที่จะมีสิทธิพรากชีวิตของผู้อื่นได้ ขณะที่ทางสำนักวาติกันและกลุ่มเคร่งศาสนา ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างรุนแรง ขณะที่หัวหน้าพรรคขวาจัดจากฝรั่งเศสอย่าง มารีน เลอแปนก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายมาครงว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงทางการเมืองให้นายมาครงเท่านั้น และคงไม่สามารถจะเรียกว่านี่เป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะการที่พวกเธอลงคะแนนให้ก็เพียงเพราะไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการบัญญัติเรื่องนี้เข้าไปในรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครในฝรั่งเศสที่จะทําให้สิทธิในการทําแท้งตกอยู่ในความเสี่ยง. ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอลที่มา: อัลจาซีรา, วอชิงตันโพสต์, CBSคลิกอ่านข่าว รายงานพิเศษ